เริ่มจากกระบวนการวิเคราะห์ และนำผลมาเปรียบเทียบตามพารามิเตอร์ดังนี้
- อุณหภูมิ: ควรอยู่ระหว่าง 23 – 32 องศาเซลเซียส ค่าความเป็นกรด-ด่าง อยู่ระหว่าง 5 – 9 หน่วย
- ค่าความเค็มของน้ำ: ปกติแหล่งน้ำจะเริ่มมีรสเค็มที่ระดับความเค็มประมาณ 0.5 ppt ซึ่งเริ่มไม่เหมาะจะนำมาใช้เพื่อการประปา ขณะที่ความเค็มประมาณ 1 ppt ไม่เหมาะจะนำมาใช้เพื่อการชลประทาน นอกจากนี้ ค่าความเค็มมีค่าเกินกว่า 7 ppt จะไม่เหมาะต่อการเพาะเลี้ยงและการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำจืด
- ปริมาณของแข็งแขวนลอยในน้ำ (Suspended Solid, SS): แหล่งน้ำที่ให้ผลผลิตทางการประมงที่ดีควรมีค่าแขวนลอยอยู่ในช่วง 25-80 มิลลิกรัมต่อลิตร ถ้ามีค่ามากกว่า 400 มิลลิกรัมต่อลิตร มักจะใช้เลี้ยงปลาไม่ได้ผล นอกจากนี้ แหล่งน้ำที่เหมาะจะนำมาใช้ สำหรับการผลิตน้ำประปาโดยตรง ควรมีค่าสารแขวนลอยไม่เกิน 25 มิลลิกรัมต่อลิตร
- ค่าออกซิเจนละลาย (DO): แหล่งน้ำที่เหมาะแก่การดำรงชีวิต การขยายพันธุ์และการอนุรักษ์สัตว์น้ำ ควรมีค่า DO ไม่ต่ำกว่า 5 มก./ลิตร ถ้าปริมาณออกซิเจนละลายน้ำมีค่าต่ำกว่า 2 มก./ลิตร จะไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ และถ้าไม่มีปริมาณ DO จะเกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย
- ค่าความขุ่นของแหล่งน้ำ: แหล่งน้ำโดยทั่วไปไม่ควรมีค่าความขุ่นเกินกว่า 100 NTU เพราะจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์และพืชน้ำ นอกจากนี้ จะมีผลต่อระบบการผลิตน้ำประปาที่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายสำหรับสารเคมีในการกำจัดตะกอนของน้ำ
- ฟีคอลโคลิฟอร์ม (Feacal Coliform): แหล่งน้ำที่เหมาะจะนำมาใช้ในการผลิตประปาและสามารถว่ายน้ำหรือเล่นกีฬาทางน้ำไม่ควรมีค่าปริมาณแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์มเกินกว่า 1,000 หน่วย ( mpn ต่อ 100 มิลลิลิตร) ขณะที่แหล่งน้ำที่เหมาะจะอนุรักษ์ไว้เพื่อสำหรับกิจกรรมการเกษตรกรรม ไม่ควรมีค่าปริมาณแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์มเกินกว่า 4,000 หน่วย
- ฟอสเฟต: โดยทั่วไปปริมาณฟอสฟอรัสที่จะก่อปัญหาต่อแหล่งน้ำจะมีความสัมพันธ์กับปริมาณไนโตรเจนเสมอ โดยฟอสฟอรัสจะเป็นปัจจัยหลักและมีไนโตรเจนเป็นปัจจัยรอง และแหล่งน้ำที่มีค่าฟอสฟอรัสทั้งหมดอยู่ระหว่าง 0.05 – 1 มก./ลิตร หรือมากกว่า และแหล่งน้ำเสื่อมโทรมมักมีค่าฟอสฟอรัสทั้งหมดเกินกว่า 0.6 มก./ลิตร ขึ้นไป
- ไนเตรท: โดยทั่วไปปริมาณไนเตรท-ไนโตรเจน จะเปลี่ยนรูปมาจากแอมโมเนีย-ไนโตรเจน ในแหล่งน้ำ โดยแบคทีเรียกลุ่ม autotrophic nitrifying ซึ่งแหล่งน้ำที่มีความสกปรกสูงและมีการปนเปื้อนอย่างสม่ำเสมอมักตรวจพบไนเตรท-ไนโตรเจนในปริมาณสูง แหล่งน้ำที่ตรวจพบปริมาณไนเตรท-ไนโตรเจนสูงย่อมแสดงว่ามีการปนเปื้อนจากของเสียหรือสิ่งสกปรกจากชุมชน หรือมีการชะล้างหน้าดินในพื้นที่เกษตรกรรมในปริมาณสูง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อการนำน้ำมาใช้ในการบริโภคหรือการผลิตน้ำประปา ทำให้เกิดโรคระบบโลหิต เรียกว่า Methemoglobinemia
**การวิเคราะห์แต่ละพารามิเตอร์มีความสำคัญในการบ่งบอกถึงคุณภาพน้ำเน่าเสียหรือน้ำสภาพที่ดี**